1.5.62

การวางแผนการใช้สื่อการสอน

การวางแผนการใช้สื่อการสอนอย่างมีระบบและสอดคล้องกับระบบการสอนที่ออกแบบไว้ โดยทั่วไปจะมีองค์ประกอบสำคัญ คือ
          1) การเลือก
          2) การเตรียม
          3) การนำเสนอ
          4) การติดตามผล
การวางแผนการใช้สื่อการสอนโดยใช้แนวคิดของวิธีระบบเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้การวางแผนการใช้สื่อการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะนำสิ่งที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาได้อย่างครบถ้วน และสามารถตรวจอบจุดบกพร่องเพื่อนำมาซึ่งการปรับปรุงพัฒนาการใช้สื่อการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้นได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงแบบจำลองที่เรียกว่า “ASSURE Model” ซึ่งได้รับความนิยมในการนำไปใช้เพื่อวางแผนการใช้สื่อการสารสอนอย่างมีประสิทธิภาพ (Heinich, และคณะ 199634 - 57) รายละเอียดมีดังต่อไปนี้
แบบจำลอง ASSURE
แบบจำลอง ASSURE เป็นแนวคิดของ Heinich และคณะ (1996) สามารถใช้เป็นแนวทางในการวางแผนอย่างเป็นระบบในการใช้สื่อการสอน (Systematic Planning for the Use of Media) นอกจากนี้มีผู้ขยายความเห็นให้รายละเอียด จำแนกได้เป็น 6 ขั้น คือ
          1) การวิเคราะห์ผู้เรียน (Analyze Learners)
          2) การกำหนดจุดประสงค์ (State Objectives)
          3) การเลือกวิธีสอน สื่อและวัสดุ (Select Methods, Media, and Materials)
          4) การใช้สื่อและวัสดุ (Utilize Media and Materials)
          5) การกำหนดการมีส่วนร่วมของผู้เรียน (Require Learner Participation)
          6) การประเมิน และการแก้ไข (Evaluate and Revise )
ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์ผู้เรียน
จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับเนื้อหา และวิธีสอน และสำรวจความพร้อมของผู้เรียนว่ามีความพร้อมที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ มากน้อยเพียงใดได้แก่
 ก. ลักษณะทั่วไปของผู้เรียน  เป็นการพิจารณาภาพรวมของผู้เรียนในด้านต่างๆ เช่น อายุ เพศ ระดับชั้นเรียน ระดับสติปัญญา เชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา เป็นต้น
ข. ลักษณะเฉพาะ เช่น ทักษะที่มีมาก่อน (prerequitsite skills) ทักษะเป้าหมาย (targer skills) ทักษะในการเรียน (study skills) ทัศนคติ (attitude)
ค. การระบุความสามารถขั้นพื้นฐานของผู้เรียน
เมื่อจะสอนเนื้อหาใด ๆ ผู้สอนควรพิจารณาว่า ก่อนที่ผู้เรียนจะเรียนเนื้อหาดังกล่าวผู้เรียนควรมีพื้นความรู้และทักษะด้านใดมาก่อนบ้าง (prerequisite skill) และเพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ผู้เรียนต้องมีความรู้ ทักษะ ตลอดจนทัศนคติอย่างไรบ้าง (target skill) หากพบว่าผู้เรียนยังขาดความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นก่อนการเรียน ก่อนที่จะเริ่มสอนเนื้อหาของหลักสูตรผู้สอนควรทำการสอนเสริมให้ผู้เรียนมีพื้นความรู้ตามที่กำหนดไว้ก่อน และในทางตรงกันข้ามหากพบว่าผู้เรียนมีความรู้ในเนื้อหาของหลักสูตรมาก่อนที่จะเรียน ผู้สอนก็ไม่ควรจะสอนเนื้อหาส่วนนั้นให้เสียเวลาและทรัพยากร ควรใช้เวลาไปสอนเสริมในส่วนที่ผู้เรียนยังไม่มีความรู้ และการที่จะทราบว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถพื้นฐานในระดับใดอาจทำได้โดยการสอบถาม การสัมภาษณ์ หรือการให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบ
ง. ลีลาการเรียน
         ลีลาการเรียน (Learning Styles) หมายถึง ลักษณะทางจิตวิทยา (trait) ที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ การมีปฏิสัมพันธ์ และการตอบสนองต่อสิ่งเร้าและสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของบุคคล ผลจากการศึกษาและการวิจัยยืนยันว่า ลักษณะทางจิตวิทยาของผู้เรียนมีอิทธิพลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เรียนจากวิธีการและสื่อการสอนต่างๆ Howard Gardner (1993 อ้างถึงใน Heinich และคณะ1996) ผู้เป็นต้นแนวคิดเรื่อง พหุปัญญา (Multiple Intelligence) กล่าวไว้ว่า “คนเราไม่ได้มีความสามารถในด้านต่างๆ เหมือนกันทุกคน และคนเราก็ไม่ได้เรียนรู้ด้วยวิธีการเดียวกันทุกคน” แนวคิดของ Gardner บ่งบอกให้ครูอาจารย์ ผู้ออกแบบหลักสูตร และนักเทคโนโลยีการศึกษาทราบว่า ในการออกแบบหลักสูตรให้แก่ผู้เรียน บุคคลเหล่านี้ควรจะทำงานร่วมกัน
เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสที่จะพัฒนาความรู้และทักษะในทางที่ตนเองถนัดและมีความสามารถโดยผ่านทางเทคนิค วิธีการ และสื่อการสอนที่หลากหลายในเรื่องของลีลาการเรียนรู้ ได้มีผู้ให้แนวคิดไว้หลากหลาย Heinich และคณะ (1996ฆ 38) ได้จัดประเภทของแนวคิดเกี่ยวกับลีลาการเรียนรู้ออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้
1. บุคคลเลือกที่จะรับรู้ และบุคคลมีความสามารถในการรับรู้ต่างกัน
 ผู้เรียนแตกต่างกันในด้านการเลือกใช้ประสาทสัมผัสในการรับรู้ และความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสเพื่อการรับรู้ของบุคคลไม่เหมือนกัน บุคคลมักจะใช้ประสาทสัมผัสส่วนที่ตนมีความสามารถสูงเพื่อใช้ในการรับรู้ก่อนการใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่น จากการศึกษาพบว่า ผู้เรียนทุกคนไม่ได้มีความสามารถในการฟังเหมือนกัน และไม่ได้เลือกที่จะใช้หูหรือการได้ยินเป็นช่องทางในการรับรู้ก่อนอวัยวะส่วนอื่นเสมอไป ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้อาจารย์หรือผู้สอนต้องทำการทบทวนวิธีการสอนแบบบรรยายแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้เรียนที่เรียนช้า เลือกที่จะเรียนรู้จากการมีประสบการณ์ตรงและการเคลื่อนไหวของร่างกายก่อนวิธีอื่น ผู้เรียนกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้อย่างลำบากหากให้นั่งอยู่เฉยๆ และฟังครูเท่านั้น
2. รูปแบบของการประมวลผลข้อมูล
ลีลาการเรียนรู้ประเภทนี้เกี่ยวข้องกับตัวแปรต่างๆ ในการที่บุคคลเลือกที่จะใช้วิธีการในการประมวลผลข้อมูลในสมอง Gregorc ได้เสนอแนวคิดเรื่อง “ลีลาความคิด” (Mind Styles) ไว้ และต่อมา Kathleen a. Butler (1986 อ้างถึงใน Heinich และคณะ1996) ได้ขยายแนวคิดดังกล่าวเพิ่มเติม โดยแบ่งประเภทการประมวลผลข้อมูลของผู้เรียนไว้ 2 ด้าน คือ ด้านเนื้อหา และด้านลำดับขั้นในการคิด ด้านเนื้อนั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ รูปธรรม (Concrete)หรือนามธรรม (Abstract) และด้านลำดับในการคิดก็แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ การคิดตามลำดับขั้น (Sequential) หรือการคิดแบบสุ่ม (Random) จากพื้นฐานแนวคิดดังกล่าวนั้นจะแบ่งลีลาการเรียนรู้ของผู้เรียนออกเป็น 4 กลุ่มคือ 1) กลุ่มรูปธรรม-ตามลำดับขั้น 2) กลุ่มรูปธรรม-สุ่มคิด 3) กลุ่มนามธรรม-ตามลำดับขั้น และ 4) กลุ่มนามธรรม-สุ่มคิด ในกลุ่มรูปธรรม-ตามลำดับขั้นนั้นพบว่า เลือกที่จะเรียนแบบมีประสบการณ์ตรงและลงมือทำ โดยให้นำเสนอเนื้อหาบทเรียนตามลำดับขั้นตอน กลุ่มนี้จะเรียนได้ดีหากมีการใช้คู่มือการเรียน บทเรียนแบบโปรแกรม การสาธิต และทำการทดลองในห้องปฏิบัติการที่มีการวางโครงสร้างการทดลองตามลำดับขั้นตอน ส่วนกลุ่มรูปธรรม-สุ่มคิดมักเลือกที่จะเรียนด้วยวิธีการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง สามารถที่จะให้ข้อสรุปของบทเรียนที่ให้เรียนโดยการสำรวจได้อย่างรวดเร็ว ผู้เรียนกลุ่มนี้ชอบที่จะเรียนจากวิธีการที่เป็นสถานการณ์จำลอง การเรียนรู้แบบค้นพบ การเรียนแบบอิสระ และการเรียนจากเกม ในผู้เรียนกลุ่มนามธรรม-ตามลำดับขั้นสามารถที่จะถอดรหัสสิ่งที่เป็นภาษาและสัญลักษณ์ได้เป็นอย่างดี เลือกที่จะเรียนโดยการอ่านและการฟัง สำหรับผู้เรียนในกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มนามธรรม-สุ่มคิด เป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการดึงความหมายในการสื่อสารด้วยการนำเสนอจากสื่อต่างๆ สามารถที่จะรับความหมายจากน้ำเสียงและลีลาของการพูดไว้เป็นอย่างดี กลุ่มนี้เรียนรู้ได้ดีจากการเรียนแบบอภิปรายเป็นกลุ่ม การบรรยายโดยการตั้งคำถามและให้คำตอบเป็นระยะ ๆ ตลอดจนการเรียนจากภาพยนตร์และโทรทัศน์
3. ปัจจัยเกี่ยวกับการจูงใจ
จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยทางด้านอารมณ์หลายปัจจัยมีอิทธิพลต่อการให้ความสนใจบทเรียน ระยะเวลาของการให้ความสนใจต่อบทเรียน ความพยายามในการเรียนรู้ และความรู้สึกที่จะรบกวนการเรียนรู้ ในกระบวนการของการเรียนรู้มีสิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้หลายประการ เช่น ความกังวลใจ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ แรงจูงใจทางสังคม และการแข่งขัน เป็นต้น ผู้เรียนบางคนเรียนได้ดีในบรรยากาศการเรียนที่ไม่เคร่งเครียด แต่บางคนอาจจะเรียนได้ดีกว่าในบรรยากาศการเรียนที่เคร่งครัดและมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด
4. ปัจจัยทางจิตวิทยา
นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่า ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ความแตกต่างทางเพศ สุขภาพ และเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ เด็กชายและเด็กหญิงมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อประสบการณ์การเรียนรู้แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เด็กชายมักชอบที่จะแข่งขันและมีแนวโน้มว่าจะก้าวร้าวมากกว่าเด็กหญิง เด็กชายจึงมักตอบสนองได้ดีกว่าในการเรียนการสอนที่มีการใช้เกม นอกจากนี้ก็พบว่า ความหิวและความเจ็บป่วยมีผลต่อการเรียนรู้อย่างชัดเจน ส่วนเรื่องของอุณหภูมิ เสียงรบกวน แสงไฟ และช่วงเวลาของวัน เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการใช้สมาธิและการให้ความสนใจในบทเรียน ผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในการอดทนต่อปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว
วัตถุประสงค์ในการพิจารณาเรื่องลีลาการเรียนรู้ของผู้เรียน ก็เพื่อที่จะประยุกต์ใช้เทคนิค วิธีการ ตลอดจนสื่อการสอนให้เหมาะสมกับลักษณะของผู้เรียน ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ขั้นที่2 การกำหนดวัตถุประสงค์ (State Objective) 
เพื่อสะดวกในการเลือกสื่อและวิธีการที่ถูกต้อง ตลอดจนการจัดลำดับกิจกรรมการเรียน และสร้างสิ่งแวดล้อม หรือประสบการณ์การเรียนรู้ การประเมินผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง
ช่วยให้ผู้เรียนทราบถึงผลแห่งการเรียนรู้และผลแห่งการกระทำหลังจากเสร็จสิ้นบทเรียนแล้ว ซึ่งการกำหนดวัตถุประสงค์ ควรประกอบด้วย
1. การกระทำ (performance)เป็นสิ่งที่คาดหวังว่าผู้เรียนจะสามารถกระทำได้ภายหลังจบบทเรียนแล้ว
2. เงื่อนไข (conditions)เป็นข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่ตั้งขึ้นโดยรวมอยู่ภายใต้การกระทำ
3. เกณฑ์ (criteria)เพื่อการตัดสินการกระทำนั้นว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่
     การกำหนดวัตถุประสงค์เป็น “วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม” แบ่งออกเป็น
1. พุทธิพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพื่อวัดการเรียนรู้ของผู้เรียนเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ สติปัญญา และการพัฒนา
2. จิตตพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ทางด้านความคิด ทัศนคติ ความรู้สึก ค่านิยมและการเสริมสร้างทางปัญญา
3. ทักษะพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการกระทำ การแสดงออกหรือการปฏิบัติ
1.ระดับการเรียนรู้ทางพุทธิพิสัย ระดับการเรียนรู้ประเภทนี้ เริ่มจากสิ่งที่ง่ายไปยังสิ่งที่ยาก ดังนี้
          1. ความรู้ (Knowledge) ได้แก่ การระลึกได้ การจดจำคำนิยาม การสังเกตและการคิดทบทวน
          2. ความเข้าใจ (Comprehension) ได้แก่ การแปลความหมาย การตีความการเรียบเรียง การสรุป การพยากรณ์จากข้อมูลที่มีอยู่
          3. การนำไปใช้ (Application) ได้แก่ การใช้ความคิดและความรู้ต่างๆ
          4. การสร้างสรรค์ (Creation) ได้แก่ การวิเคราะห์ สังเคราะห์และการประเมินข้อมูลที่ได้รับมา จนเกิดความคิดสร้างสรรค์
           ระดับการเรียนรู้ด้านจิตพิสัย การเรียนรู้ด้านนี้ แบ่งตามความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกภายใน เช่น เจตคติ ค่านิยมและอื่นๆ ของแต่ละบุคคล การเรียนรู้ด้านจิตพิสัยแบ่งออกได้ดังนี้
 1. การรับ เป็นการตื่นตัวและยินดี ตลอดจนมีความสนใจต่อสิ่งเร้าต่างๆ
 2. การตอบสนอง หมายถึง การมีส่วนร่วมและตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น
 3. การเห็นคุณค่า เป็นการแสดงออกถึงเจตคติและความสนใจด้วยตนเอง                                           
 4. การบอกคุณลักษณะ (Characterization) เป็นการแสดงออก ถึงวิถีการดำรงชีวิตอันขึ้นอยู่กับค่านิยมและระบบค่านิยมของสังคม 
ระดับการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัย การเรียนรู้ด้านทักษะนี้ พิจารณาจากความสัมพันธ์ในการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งแบ่งออกได้ ดังนี้ 1) การเลียนแบบ 2) การกระทำด้วยตนเอง 4) ความถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้อง และ 5) การแสดงออกเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากการรวมทักษะหลายๆ ด้านอย่างมีประสิทธิภาพ
  ขั้นที่ 3 การเลือกวิธีการเรียนการสอน รูปแบบสื่อ และสื่อการเรียนการสอน
1) การเลือกวิธีการเรียนการสอน 
พึงระลึกไว้ว่า ไม่มีวิธีการสอนวิธีใดที่ดีกว่าวิธีการอื่นๆ อย่างเบ็ดเสร็จ บทเรียนแต่ละบทอาจจะต้องใช้วิธีการเรียนการสอนหลายวิธีประกอบกัน เช่น ผู้สอนอาจจะใช้สถานการณ์จำลองในช่วงต้นของการเรียนเพื่อดึงดูดและปลุกเร้าความสนใจ ต่อมาก็ทำการสาธิตเพื่อนำเสนอเนื้อหาใหม่ของบทเรียน ในตอนท้ายก็ให้ผู้เรียนทำกิจกรรมทบทวนและฝึกปฏิบัติเพื่อฝึกทักษะใหม่ เป็นต้น ผู้สอนควรจัดให้มีวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันได้สามารถเลือกวิธีการที่จะบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ได้ตามแนวทางที่ตนเองมีความสามารถและพึงพอใจ
2) การเลือกรูปแบบสื่อ
รูปแบบของสื่อ หมายถึง คุณลักษณะทางกายภาพของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะใช้สื่อความหมายในการเรียนการสอน ซึ่งสารที่เป็นเนื้อหาของบทเรียนถูกนำมาบรรจุไว้ และสื่อก็เป็นตัวแสดงสารนั้นออกมา รูปแบบของสื่อ เช่น ภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น การเลือกรูปแบบของสื่ออาจเริ่มต้นที่การพิจารณาคุณลักษณะของสื่อ (Media Attributes) รูปแบบสื่อแต่ละอันมีข้อดีข้อจำกัดต่างกัน ในด้านประเภทของสารที่จะถูกบันทึกและแสดงผ่านสื่อในรูปแบบนั้น ๆ การเลือกรูปแบบของสื่อเป็นงานที่ค่อนข้างซับซ้อน ต้องพิจารณาสิ่งต่างๆ ประกอบกันหลายอย่าง เช่น ชนิดของสื่อที่มีอยู่ ผู้เรียนที่มีลักษณะต่างๆ และวัตถุประสงค์การเรียนรู้หลายอย่างที่ต้องการให้ผู้เรียนบรรลุ เป็นเวลานานมาแล้วที่มีความพยายามในการนำเสนอแนวทางในการเลือกสื่อให้ดูง่ายยิ่งขึ้น โดยนำเสนอในรูปแบบของสิ่งที่เรียกว่า “แบบจำลองในการเลือกสื่อ” (Media Selection Models) ซึ่งมักจะนำเสนอเป็น flowchart หรือเป็นบัญชีรายการ แบบจำลองการเลือกสื่อส่วนมากมักจะนำประเด็นด้านการกำหนดเงื่อนไขหรือสภาพของการเรียนการสอน ด้านตัวแปรของผู้เรียน และด้านธรรมชาติของวัตถุประสงค์การเรียนรู้ มาพิจารณาประกอบกันกับศักยภาพในการนำเสนอของสื่อในรูปแบบต่างๆ ในแบบจำลองบางอันยังรวมถึงประเด็นของการให้ผลย้อนกลับสู่ผู้เรียนด้วย ในการเลือกรูปแบบของสื่อผู้สอนจะเป็นผู้ที่สามารถตัดสินใจโดยการชั่งน้ำหนักความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในบริบทของการสอนแต่ละครั้ง
3) การเลือกสื่อการเรียนการสอน
เมื่อพิจารณาเลือกรูปแบบของสื่อเรียบร้อยแล้ว เช่น เลือกที่จะสื่อด้วยภาพหรือด้วยเสียง ขั้นต่อมาคือการพิจารณาว่า จะใช้สื่อการเรียนการสอนชิ้นใดในการสื่อภาพหรือเสียงนั้นๆ ซึ่งในขั้นของการเลือกสื่อการเรียนการสอนนี้มีสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ครอบคลุมอยู่ 2 ประเด็นด้วยกันคือ
1) เลือกวัสดุที่เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอน เช่น แผ่นใส เทปเสียง แผนภูมิ เป็นต้น
2) เลือกเนื้อหาบทเรียน(สาร) ที่วัสดุนั้นสื่อออกมา
ในส่วนของการเลือกสื่อการเรียนการสอนนั้นมีทางเลือก 3 ทางคือ
1) เลือกจากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้งานเลย
2) ปรับแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ก่อนนำมาใช้งาน และ
3) ออกแบบและสร้างขึ้นมาใหม่ (Heinich และคณะ1996)
1)การเลือกจากสื่อการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้วมาใช้งานเลย
ส่วนมากแล้วมักจะมีการจัดทำสื่อการเรียนการสอนสำเร็จรูปตามหลักสูตรไว้ให้เลือกใช้ได้ โดนเฉพาะอย่างยิ่งในหลักสูตรการสอนระดับโรงเรียน ซึ่งบางครั้งสถาบันการศึกษาอาจจัดหาสื่อเหล่านั้นมาให้ผู้สอน แต่บางครั้งผู้สอนอาจต้องหาซื้อมาเองจากสื่อสำเร็จรูปที่ผลิตไว้เพี่อขาย อย่างไรก็ตามเมื่อจะเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้วควรใช้แนวทางดังต่อไปนี้ประกอบการตัดสินใจเลือก (Kemp และ Smellie, 1989)
มีเนื้อหาตรงตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรหรือไม่
เนื้อหามีความถูกต้องและถูกปรับปรุงให้เป็นข้อมูลปัจจุบันหรือไม่
ใช้ภาษาที่ชัดเจนและกระชับหรือไม่
ใช้ปลุกเร้าและตรึงความสนใจผู้เรียนได้หรือไม่
ลักษณะทางเทคนิคมีคุณภาพหรือไม่ (เช่น ภาพคมชัด เสียงชัดเจน)
มีหลักฐานแสดงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้หรือไม่
มีข้อมูลที่ลำเอียงหรือมีส่วนที่เป็นการโฆษณารวมอยู่ด้วยหรือไม่
มีคู่มือการใช้หรือเอกสารประกอการใช้หรือไม่
  กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนหรือทำกิจกรรมที่จะตามมาหลังจากการใช้สื่อได้หรือไม่
2) การปรับปรุงแก้ไขสื่อการเรียนการสอนที่มีอยู่ก่อนนำไปใช้
ถ้าไม่สามารถใช้สื่อการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้วโดยตรงได้ อาจจำเป็นจะต้องทำการปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น การทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทั้งท้าทาย สร้างสรรค์ และประหยัดมากกว่าการจัดหาหรือสร้างสื่อขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ข้อควรระวังในการปรับปรุงแก้ไขสื่อก็คือ ควรตรวจดูว่าสื่อดังกล่าวเป็นสื่อที่มีลิขสิทธิ์หรือไม่ เพระการปรับแก้ไขจะมีข้อกำหนดและกฎหมายทางด้านลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง
3)การออกแบบและสร้างสื่อการเรียนการสอนขึ้นใหม่
บางครั้งอาจจำเป็นที่จะต้องออกแบบและสร้างสื่อขึ้นมาใหม่ ในกรณีนี้ควรนำองค์ประกอบพื้นฐานดังต่อไปนี้เข้ามาพิจารณาด้วย ได้แก่ วัตถุประสงค์ของการเรียน (อะไรคือสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้) ผู้เรียน (มีลักษณะอย่างไร ต้องมีทักษะพื้นฐานใดจึงจะใช้หรือเรียนจากสื่อได้) ค่าใช้จ่าย (มีงบประมาณในการจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างสื่อเพียงพอหรือไม่) ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคในการออกแบบและการสร้าง (ผู้สร้างมีความรู้และความเชี่ยวชาญเพียงพอที่จะออกแบบและสร้างสื่อด้วยตนเองได้หรือไม่) เครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้าง (มีเพียงพอครบถ้วนแล้วหรือไม่) เวลาที่ใช้ในการสร้าง (มีเวลาในการสร้างเพียงพอหรือไม่)
ขั้นที่ 4 การใช้สื่อและการนำเสนอเนื้อหาบทเรียน 
                เมื่อตัดสินใจเลือกวิธีการ รูปแบบการสื่อความหมาย และตัวสื่อการเรียนการสอนเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อมาคือ การวางแผนเกี่ยวกับการใช้สิ่งเหล่านั้น ทั้งโดยผู้สอนและผู้เรียน ผลการศึกษาและการวิจัยต่างๆ ควรถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการวางแผนการใช้ การเพิ่มขึ้นของปริมาณและชนิดของสื่อประกอบกับการเปลี่ยนแปล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น