20.2.62

การเรียนรู้เชิงรุก

การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา บ้างก็เรียนตามคำบอกเล่าสั่งสอน บ้างก็ใช้วิธีครูพักลักจำจากสิ่งที่ได้เรียนรู้แล้วนำมาปรับไปตามสถานการณ์ที่พบ เกิดประสบการณ์ที่ทำให้พฤติกรรมของเราเปลี่ยนแปลง วันนี้จึงขอนำการเรียนรู้ที่น่าสนใจแบบหนึ่งมาเสนอ
            คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย สำนักงานราชบัณฑิตยสภา อธิบายว่า การเรียนรู้เชิงรุก (active learning) หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้ เรียนมีบทบาทในกิจกรรมการเรียนอย่างตื่นตัวและมีชีวิตชีวา เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนริเริ่มและดำเนินการเรียนรู้อย่างใส่ใจ จดจ่อกับเนื้อหาและเรื่องที่เรียนอย่างต่อเนื่องตลอดกระบวนการ โดยมีการริเริ่มความคิด สร้างความรู้ มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง และแสดงออกไม่ว่าจะเป็นท่าทางหรือวาจา มิใช่เป็นเพียงผู้รับความรู้เท่านั้น ผู้สอนต้อง มีบทบาทในการเร้าความสนใจและสร้างบรรยากาศในการเรียน โดยใช้กลยุทธ์แตกต่างกันไปตามสถานการณ์ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์
            การจัดการเรียนรู้เชิงรุกสามารถทำได้ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้งสามารถใช้ได้กับผู้เรียนทุกระดับ ทั้งการเรียนรู้เป็นรายบุคคลและการเรียนรู้แบบกลุ่ม การจัดการเรียนรู้เชิงรุกมีได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับลักษณะของเนื้อหาวิชา  บุคลิกภาพของผู้สอน ลักษณะของผู้เรียนรวมทั้งสภาพแวดล้อม เช่น การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ การเรียนรู้ที่เน้นทักษะกระบวนการคิด การเรียนรู้แบบสืบสอบ การเรียนรู้แบบค้นพบ วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เหล่านี้มีพื้นฐานมาจากแนวคิดสำคัญ คือให้ผู้เรียนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการเรียนรู้ของตนเอง
            การเรียนรู้เชิงรุกเป็นการเรียนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้สูงสุด ส่วนผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ผู้เรียนได้ค้นพบความรู้ พัฒนาความสามารถ เกิดเจตคติที่ดีและมีประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้เชิงรุกช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เข้าใจ จดจำ และประมวลผลข้อมูลที่เรียน และทำให้บทเรียนและกิจกรรมการเรียนการสอนมีความหมาย และน่าสนใจทั้งผู้สอนและผู้เรียน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น